บรูไนดารุสซาลาม

บรูไนดารุสซาลาม

การศึกษาของบรูไนดารุสซาลาม

ระบบการศึกษา
ประเทศบรูไนดารุสซาลามไม่มีการศึกษาภาคบังคับ แต่การศึกษาเป็นสากล และจัดให้ฟรีสำหรับประชาชนทั่วไป การศึกษาแบ่งออกเป็นระดับก่อนประถมศึกษา 1 ปี ระดับประถมศึกษา 6 ปี ระดับมัธยมศึกษา 7-8 ปี ซึ่งแบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 2-3 ปี และระดับเตรียมอุดมศึกษา 2 ปี และระดับมหาวิทยาลัย 3-4 ปี

  •  ระดับก่อนประถมศึกษา

เด็กทุกคนต้องเข้าศึกษาในระดับก่อนประถมศึกษา 1 ปี เมื่ออายุ 5 ปี หลังจากนั้นจึงเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษา

    •  ระดับประถมศึกษา
การศึกษาระดับประถมศึกษาแบ่งออกเป็นสองระดับคือ ระดับประถมต้น 3 ปี และประถมปลาย 2-3 ปี หลังจากจบการศึกษาระดับประถมศึกษา 6 ปี นักเรียนจะต้องเข้ารับการทดสอบข้อสอบกลาง (PCE : Primary Certificate of Examination) ซึ่งการศึกษาในระดับนี้มีจุดประสงค์เพื่อปูพื้นฐานด้านการเขียน การอ่าน และการคำนวณให้แก่นักเรียน เพื่อจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง

  •  ระดับมัธยมศึกษา
การศึกษาระดับมัธยมศึกษารวมใช้เวลา 7-8 ปี (มัธยมศึกษา 1-5 และ เตรียมอุดมศึกษา 2 ปี)
  – ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีระยะเวลา 3 ปี หลังมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว นักเรียนจะต้องทดสอบ BJCE (Brunei Junior Certificate of Education) จึงสามารถเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเลือกเรียนวิชาด้านช่าง และเทคนิคพื้นฐานที่สถาบันการศึกษาทางเทคนิคและอาชีวศึกษา
      – ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
มีระยะเวลา 2-3 ปี นักเรียนจะเลือกเรียนสายศิลป์ สายวิทย์ หรือสายอาชีพ ตามแต่ผลการสอบ BJCE หลักจากเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว (ระดับ 5) เด็กต้องสอบข้อสอบ Brunei-Cambridge General Certificate of Education : BCGCE “O”  level หรือสำเร็จการศึกษาระดับ 6 เด็กต้องสอบข้อสอบ Brunei-Cambridge General Certificate of Education : BCGCE “A” level แล้วจึงจะมีสิทธิ์เรียนต่อระดับเตรียมอุดมศึกษา
                 – ระดับเตรียมอุดมศึกษา มีระยะเวลา 2 ปี

        •  ระดับปริญญาตรี
การศึกษาระดับปริญญาตรีจะจัดให้กับเด็กที่มีผลการศึกษาดี มีศักยภาพในการศึกษาต่อได้ หรือศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวะ และเทคนิคต่าง ๆ วิทยาลัยต่าง ๆ

โรงเรียนเอกชน (Non-Government Schools)
         โรงเรียนเอกชนมีบทบาทในการช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาของรัฐบาล โดยโรงเรียนเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการมี 5 ประเภท ได้แก่ โรงเรียนภาคบังคับตามปกติ (ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษา) โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนสอนดนตรี โรงเรียนสอนตัดเสื้อ

  การศึกษา และการฝึกหัดด้านอาชีวะและเทคนิค
กรมการศึกษาด้านเทคนิค (Department of Technical Education – DTE) เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษา และการฝึกหัดด้านอาชีวะและเทคนิค (Technical and Vocational Education and Training) และโปรแกรมเกี่ยวกับการศึกษาต่อ (Continuing Education-CE)

ระบบการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2528 กำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษ และภาษามาเลย์ในการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 3 ครูจะสอนทุกวิชาด้วยภาษามาเลย์ ยกเว้นวิชาภาษาอังกฤษซึ่งใช้ภาษาอังกฤษในการสอน สำหรับระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป โรงเรียนจะใช้ทั้งภาษามาเลย์ และภาษาอังกฤษในการสอน โดยภาษามาเลย์ใช้สำหรับสอนวิชาเกี่ยวกับมาเลย์ ความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม พลศึกษา ศิลปะและการช่าง และวิชาหน้าที่พลเมือง ส่วนภาษาอังกฤษใช้ในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น


+ นโยบาย/จุดเน้นด้านการศึกษา
           กระทรวงศึกษาธิการบรูไนดารุสซาลาม ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์  2007 – 2012  และการจัดทำวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาของบรูไนดารุสซาลาม 2035 โดยได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างสังคมบนพื้นฐานแห่งทักษะ และความรอบรู้ภายใต้ระบบการศึกษา “world class education system”  ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยให้การศึกษาเป็นหนึ่งใน 8 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ  พร้อมทั้งได้ใช้เงินกองทุนพัฒนาใน การลงทุนการศึกษาในอัตราร้อยละ 8.7 รวมทั้งการพัฒนาด้านโครงสร้าง ICT

ระบบการศึกษาของบรูไนดารุสซาลามมุ่งตอบสนองความต้องการของศตวรรษที่ 21  โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ มีโอกาสเลือกเรียนสาขาวิชาการต่างๆในระดับอุดมศึกษา ที่มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์สันติภาพและความรุ่งเรืองของชาติ

ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาแห่งชาติของบรูไนดารุสซาลามเน้นในเรื่องต่างๆ ดังนี้
– การลงทุนทางการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย
– การนำแนวปฏิบัติที่ดีจากนานาชาติมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนของประเทศ
– การพัฒนาผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา และอาชีวศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดธุรกิจและอุตสาหกรรม
– การส่งเสริมสมรรถนะในการใช้ ICT สำหรับผู้เรียน ครู บุคลากรการศึกษา รวมทั้งการ การบูรณาการ เรื่อง ICT ในหลักสูตรของโรงเรียน
– การดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเปิดโอกาสให้สามารถศึกษาต่อได้ในระดับอุดมศึกษา
– การส่งเสริมการวิจัย การพัฒนาและนวัตกรรม ทั้งจากงบประมาณภาครัฐ เอกชน และความร่วมมือกับต่างประเทศ
– การส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
– การพัฒนาการจัดการของสถาบันการศึกษา

นอกจากนี้ บรูไน ดารุสซาลาม ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ ดังนี้
– การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการจัดการศึกษาในโรงเรียน วิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา
– การพัฒนาหลักสูตร การศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและสังคมในปัจจุบัน   และอนาคต
– การพัฒนาโรงเรียน เช่น การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการจัดการเรียน การสอน เช่น     การใช้คอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ในชั้นเรียน
– การพัฒนาผู้นำนักเรียน
การพัฒนาหุ้นส่วนความร่วมมือในชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ด้วยการพัฒนาองค์กรวิชาชีพที่มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้และมีประสิทธิภาพ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาการเรียน การสอน


+ ความร่วมมือด้านการศึกษาในภูมิภาค
บรูไน ดารุสซาลาม ให้ความสนใจในการพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษาระดับต่างๆ ดังนี้

ระดับการอุดมศึกษา
– ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา
– การพัฒนาสถาบันนานาชาติ
– การส่งเสริมโครงการ Twining Schools
– การแลกเปลี่ยนนักเรียนและบุคลากร

ระดับการอาชีวศึกษา
– การพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา
– การฝึกปฏิบัติงานของนักเรียนและ  บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม
– การสร้างนวัตกรรม

ระดับการศึกษาพื้นฐาน
– การพัฒนาเยาวชนให้มีพื้นความรู้ที่แข็งแกร่งในด้านภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์  การคิดคำนวณ การรังสรรค์นวัตกรรม และการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์
– การบูรณาการการสอนด้าน IT ในหลักสูตรต่างๆ
– การพัฒนาการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์
– การศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย
– การศึกษาตลอดชีวิต และการศึกษาต่อเนื่อง

Share this:

ใส่ความเห็น